ชวนรู้จัก Mobility Data Dashboard แพลตฟอร์มเจาะลึกการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านข้อมูลมือถือ ที่ต่อยอดมาจากงานวิจัย “Mobility Data เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง” โดยดีแทค-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ
แพลตฟอร์มนี้เปิดโอกาสให้นักออกแบบนโยบายสาธารณะ ผู้สนใจในข้อมูล ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักการตลาด และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านการเดินทางท่องเที่ยวที่คลอบคลุม 77 จังหวัดของคนไทยได้ฟรี
Bringing Data to Life ทำข้อมูลดิบให้มีชีวิตคือเป้าหมายของ Mobility Data
เครื่องมือ Mobility Data Dashboard นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำข้อมูลมาต่อยอด วิเคราะห์และแสดงผลออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สร้างอิมแพคต่อสังคม และเข้าใจข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นในรูปแบบของ Dashboard และแผนที่
จุดเด่นของ Tool นี้ก็คือ ช่วยทำให้เห็นศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย และออกแบบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งนี่ถือเป็น “เครื่องมือด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชิ้นแรก” ของไทย ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
นำ Data เรื่องการท่องเที่ยวมาช่วยต่อยอดการทำธุรกิจให้เติบโตได้อย่างไร?
เพราะ Data ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ เทคโนโลยี หรือด้านการตลาด ที่ต้องทำความรู้จักลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน วิธีการเข้าหาก็ย่อมแตกต่างกันไป เครื่องมือ Mobility Data Dashboard นี้จึงช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้แบบเจาะลึกไปถึงรายละเอียดในระดับอำเภอ และการกระจุกตัวในแต่ละพื้นที่ หากทราบข้อมูลเหล่านี้ ย่อมเจาะกลุ่มตลาดได้เหมาะสมและตอบโจทย์ผู้คนได้มากขึ้น
ไม่ใช่แค่ในด้านของธุรกิจระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคเท่านั้น แต่ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับประเทศได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่รู้ว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวและการเดินทางเป็นแบบไหน แต่ยังรู้ไปถึงว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งส่งผลดีต่อการกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองต่างๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย
รีวิววิธีการใช้งาน Mobility Data Dashboard
เมื่อลองใช้งานเครื่องมือนี้ก็พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ และทำออกมาในรูปแบบของแผนที่ที่มีการใช้งานง่าย และยิ่งค้นหาก็ยิ่งสนุก โดยวิธีการใช้งานก็ไม่ซับซ้อน มีฟังก์ชั่นการใช้งาน 3 ส่วนด้วยกันคือ
1.ดูภาพรวมในแต่ละจังหวัด
โดยคลิกในพื้นที่แต่ละจังหวัด ก็จะมีข้อมูลแสดงปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวเข้า-ออกจังหวัด จัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุด รวมถึงโปรไฟล์นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกจากจังหวัด ที่ลงรายละเอียดไปถึงเรื่อง เพศ ประเภทการเดินทาง และช่วงอายุ
2.เจาะลึกในระดับอำเภอ
โดยเจาะลึกข้อมูล 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนสูงสุด (06.01-22.00 น. และ 22.01–06.00 น.) หรือเลือกแบบดูละเอียดได้ถึง 7 ช่วงเวลา คือ 06.01-10.00 น. 10.01-14.00 น. 14.01-18.00 น. 18.01-22.00 น. 22.01-23.59 น. 00.01-02.00 น. และ 02.01-06.00 น. นอกจากนี้ ก็ยังมีระบุข้อมูลการกระจุกตัวตามช่วงวันหยุด แบ่งเป็นประเภทวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดยาว และวันหยุดเทศกาล ทำให้ทราบว่า แต่ละอำเภอจะมีนักท่องเที่ยวเยอะในช่วงเวลาไหนบ้าง ข้อมูลนี้ช่วยให้กิจการท้องถิ่น พัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการเดินทางได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
3.การกระจุกตัวในแต่ละพื้นที่
การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มจังหวัด เป็นข้อมูลที่แสดงปริมาณทริปการเดินทางของกลุ่มจังหวัดหรือคลัสเตอร์ที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปเยือนในทริปเดียวกัน ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ในจังหวัดนั้นๆ ได้ เช่น ภาคเหนือ เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง
สรุป
เพราะข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่าที่หากเราเอามาใช้ให้ถูกวิธี จะนับประโยชน์มหาศาลมาให้ ไม่ว่าจะธุรกิจในภาคส่วนใด ซึ่งการมีเครื่องมือเพื่อนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่ายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การมี Mobility Data Dashboard โดย ดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบุญมีแล็บ ร่วมกันพัฒนาขึ้น ก็ช่วยนำข้อมูลมาต่อยอดประโยชน์ได้มากทีเดียว
Article by Thanisorn Boonchote