การพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech กลายเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจและนวัตกรรมหลายประเภท อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างให้สตาร์ทอัพในเรื่องสิทธิบัตร ที่มีความยากในการลอกเลียนแบบไม่ว่าจะด้านบริการและผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด
เข้าใจความหมายของ Deep Tech
Deep Tech (Deep Technology) หรือเทคโนโลยีขั้นสูง คือผลลัพธ์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ที่ลอกเลียนแบบได้ยากและเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง ผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม
ตัวอย่าง Deep Tech ที่โด่งดัง เช่น AlphaGo ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียนรู้ด้วยการเก็บข้อมูลจากการเล่นเกมโกะ (กระดานหมากล้อม) กับมนุษย์ ที่สามารถประมวลผลข้อมูลจนเข้าใจกติกาและพัฒนาวิธีการเล่นให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ จนเอาชนะแชมป์โกะระดับโลกได้สำเร็จ ความซับซ้อนของ AlphaGo เลยกลายเป็นจุดแข็งที่คู่แข่งลอกเลียนได้ยาก
ซึ่งผลลัพธ์ของ Deep Tech มักเกิดขึ้นด้วยแรงกระตุ้นจากประเด็นใหญ่ระดับมหภาคที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ปัจจุบันมี Deep Tech Startup เกิดขึ้นแล้ว 8 ประเภท ได้แก่
1.Artificial Intelligence (AI) :
ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาให้ฉลาด รู้จักวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล วางแผน และตัดสินใจได้ เช่น ระบบค้นหาและจองสายการบิน, ระบบค้นหาร้านอาหารเดลิเวอรี่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง , ระบบจดจำเสียงและใบหน้าบนสมาร์ทโฟน
2. Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) :
AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกความเป็นจริง เช่น เกม Pokemon GO หรือคิวอาร์โค้ดสำหรับแสกนเป็นภาพ 3 มิติในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต่างจาก VR ที่เป็นการจำลองโลกจริงในโลกเสมือน (Simulation) โดยอาศัยแว่น VR เป็นตัวช่วย เช่น เกม PlayStation VR
3. Internet of Things (IoT) :
การเชื่อมโยงทุกอย่างสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อและสั่งการได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า การตั้งค่าให้เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำส่งสัญญาณเตือนเข้ามือถือคนในชุมชนเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง เป็นต้น
4. Blockchain :
เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เป็นโครงข่ายไร้ศูนย์กลาง เชื่อถือได้ ที่มีชุดข้อมูลตรงกันทุกชุด สามารถตรวจสอบและป้องกันการแก้ไขข้อมูลได้ นำมาใช้ประโยชน์ในการทำสัญญาที่ทุกคนจะเห็นต้นฉบับตรงกัน
5. Biotech :
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบชีวภาพ เช่น การสร้างกระดูกเทียมด้วยการพิมพ์สามมิติด้วยไทเทเนียมของ Meticuly บริษัท Startup ของไทย
6. Robotics :
วิทยาการหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในด้านต่างๆ เช่น YOMI หุ่นยนต์ทันตกรรม Atlas หุ่นยนต์ขนของกู้ภัย
7. Energy :
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบพลังงาน เช่น แบตเตอรีลิเธียมแอร์ (Lithium-air Battery) ที่ดึงออกซิเจนรอบตัวมาใช้ ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น การใช้อัลกอริธึ่มอัจฉริยะควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารแบบเรียลไทม์ ลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 40
8. Spacetech :
เทคโนโลยีอวกาศ เช่น เทคโนโลยีส่งข้อมูลหรือติดต่อสื่อสารระหว่างโลกและอากาศยาน การสำรวจนอกโลก การวิเคราะห์ข้อมูลวัตถุอวกาศ
โดยภายในปี 2565 – 2566 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านดังกล่าวให้ได้อย่างน้อย 100 ราย ใน 6 สาขา ซึ่งได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ อาหาร เกษตร อวกาศ การป้องกันประเทศ และอารีเทค (ARITech; AI , Robotic และ Immersive)
ซึ่งต้องบอกว่าถ้าหากทำได้จริง ก็คาดว่าจะช่วยตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ได้อย่างตรงจุด ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นบริษัทขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้ภาคส่วนเหล่านี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันจนเกิดการต่อยอดสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์มหาศาล จนเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
อ้างอิง :
Article by Thanisorn Boonchote