เราได้ยินคำว่า VUCA กันบ่อยมากในช่วงปีที่ผ่านมา ที่หลายๆ วงการใช้อธิบายถึงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผันผวน ซับซ้อนและเข้าใจยาก มันคือคำอธิบายของ 4 คำด้วยกัน คือ Volatility – ความผันผวน, Uncertainty – ความไม่แน่นอน, Complexity – ความซับซ้อน และ Ambiguity – ความคลุมเครือ
แต่ VUCA อาจใช้นิยามโลกในยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้แล้ว เพราะความไม่แน่นอนที่ว่านี้มันยิ่งกว่าผันผวนและยิ่งคาดเดายากขึ้นเรื่อยๆ นิยาม VUCA จึงกลายเป็นไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมโลกปัจจุบัน เป็นเหตุผลที่นักอนาคตวิทยานิยามคำอธิบายโลกยุคใหม่นี้ว่า BANI
จาก VUCA สู่ BANI เมื่อโลกซับซ้อนและเข้าใจยาก
เหตุผลก็เพราะ VUCA เป็นคำที่เก่าแก่มากกว่า 30 ปีแล้ว ถูกนำมาใช้ในวงการธุรกิจอย่างยาวนาน แต่กระแสโลก เทรนด์ธุรกิจและพฤติกรรมมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และนับวันความเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งที่ผันผวนในวันนี้กำลังหมดความน่าเชื่อถือ เพราะผู้คนไม่ได้แค่รู้สึกไม่แน่นอน แต่พวกเขายังเริ่มกังวลอีกด้วย สิ่งต่างๆ ไม่ใช่แค่ซับซ้อน แต่ถึงขั้นไม่เป็นเหตุผล ไร้ซึ่งตรรกะที่สามารถคาดการณ์ได้ สิ่งที่เคยคลุมเครือก็กลายเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อีกต่อไป
นักอนาคตวิทยาและนักพฤติกรรมศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อว่า Jamais Cascio ได้นิยามโลกยุคใหม่นี้ด้วย Framework ใหม่ที่เรียกว่า BANI ที่มาจากคำ 4 คำด้วยกัน ลองมาเจาะลึกแต่ละคำไปพร้อมกัน
B – Brittle ความเปราะบางที่มีมากขึ้นในทุกมิติ
ข้อได้เปรียบของเมื่อวานอาจใช้ไม่ได้กับวันนี้ ในยุคที่มี Product Life Cycle สั้นลง ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการก็เปลี่ยนแปลงไป Global Talent เริ่มเครียด เริ่มรู้สึก Burnout เพราะเหตุการณ์ปัจจุบันมีความเปราะบางมาก
ความเปราะบางเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือโครงสร้างทางสังคมบางอย่างที่กระทบทุกภาคส่วน ทำให้ธุรกิจบางแห่งสามารถขาดทุนได้ภายในพริบตาเพียงแค่การแพร่กระจายของไวรัสโควิด คู่แข่งทางธุรกิจทุกวันนี้จึงไม่สามารถแข่งกันด้วยกลยุทธ์แบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว เพราะสิ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวขึ้นมาเป็นที่หนึ่งได้คือความกล้าเสี่ยงและกล้าตัดสินใจ ทักษะของผู้นำที่เอาตัวรอดได้คือเมื่อล้มแล้วต้องลุกให้ไวกว่าเดิม เตรียมความพร้อมที่จะล้มเหลวได้อยู่ตลอดเวลา
เหตุการณ์ความเปราะบางกระทบสายงานอาชีพต่างๆ ได้เช่นกัน เพราะมีหลายอาชีพที่ไม่การันตีอีกแล้วว่าจะมั่นคง อีกทั้งมีอาชีพเกิดขึ้นใหม่มากมาย การเปลี่ยนงานบ่อยจึงเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนทำงานรุ่นใหม่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีทักษะที่สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้
A – Anxious ความวิตกกังวลของผู้คนที่เริ่มไม่มั่นใจในสิ่งต่างๆ
ผู้คนวิตกกังวลและกระตือรือร้นว่าโลกจะเป็นอย่างไร อยากรู้อนาคต ลังเลที่จะตัดสินใจ การเกิดสงครามยูเครน – รัสเซียขึ้นทำให้รู้ว่าผู้คนกังวลกับสถานการณ์ต่างๆ พร้อมกันทั้งโลก เรื่อง Mental Health กลายเป็นประเด็นของคนรุ่นใหม่ ที่รู้สึกเครียดง่ายและสิ้นหวัง มีการประท้วงที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และความไม่พอใจที่กระจายอยู่ทุกที่
ความวิตกกังวลของคนยุคนี้เริ่มกลายเป็นความกลัว เพราะโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้คนกลัวจะตามไม่ทันข่าวสาร กลัวถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง และกลายเป็น FOMO ในแง่หนึ่งมันคือความกลัวว่าจะตกจากขบวนรถของอะไรก็ตามที่อาจเกิดขึ้น และคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันคืออะไร นอกจากนี้ผู้คนยังเสพติดข่าวสารชนิด Real-time ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าทุกคนรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุด กลัวจะตัดสินใจผิดพลาดและมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นด้วย
N – Nonlinear โลกไม่เป็นเส้นตรงแบบที่เราเข้าใจ
โลกไม่เป็นเส้นตรงแบบที่เราคาดการณ์ได้อีกต่อไป ตรรกะความคิดกำลังถูกท้าทาย มีเหตุการณ์มากมายที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น Supply Chain Shock, Covid19 และความผันผวนของ Cryptocurrency คำอธิบายต่างๆ เริ่มไร้เหตุผล ผู้คนจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อหาคำตอบและท้าทายความจริงเดิมที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน
ในโลกที่ไม่เป็นเส้นตรงเช่นนี้ การตัดสินใจแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ได้ จนดูเหมือนบางคำตอบนั้นดูไร้เหตุผล เช่น การปั่นข่าวเรื่อง Cryptocurrency หรือความพยายามอย่างเต็มที่บางทีก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ที่สำเร็จเสมอไป ไม่มีอะไรที่แน่นอนและคาดการณ์ได้ แม้แต่กลยุทธ์ที่วางมากว่าสิบปีก็อาจใช้งานไม่ได้ผลอีกแล้ว
I – Incomprehensible ความไร้ตรรกะเพราะข้อมูลที่มีท่วมท้น
สาเหตุของหลายๆอย่างดูแปลกและไร้เหตุผลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของ WEB 3.0, Metaverse หรือ Cryptocurrency ที่ถือเป็นขาขึ้นมากๆ เมื่อปีที่ผ่านมา แต่แล้วก็กลับมาดิ่งลงหนักในปีนี้่อย่างไร้เหตุผล
ในยุคที่โลกมีข้อมูลเข้าถึงได้ง่าย เรากลับไม่สามารถหาข้อมูลง่ายขึ้นแต่อย่างใด กลับกลายเป็นว่ามีเสียงรบกวน (Noise) ที่มากขึ้นแทนเสียงของความคิดที่แท้จริง (Voice) และข้อมูลที่มากขึ้นนี้อาจกลายเป็นกรอบจำกัดความคิดของเราได้ กลายเป็นว่ายิ่งเราพยายามหาข้อมูลข่าวสารมากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งรู้น้อยลงเท่านั้น ความเข้าใจผิดกลับยิ่งถูกเชื่อได้ง่ายและกระจายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เหตุผล ความคิดและความเชื่อของผู้คนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเราตามไม่ทัน และรู้สึกท่วมท้นไปด้วยข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่
Article by Thanisorn Boonchote