ทำไมบริษัทเทคใหญ่หลายแห่งลดพนักงานลงจำนวนมาก แล้วเราควรปรับตัวอย่างไร?

Your Opinion
Published: 23.08.22

Tech company - layoff

ในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวบริษัทเทคหลายแห่งประกาศลดพนักงานลงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Tesla ที่ลดพนักงานลงกว่า 200 คน Microsoft ลดพนักงานลงกว่า 300 คน Shopee ที่ปลดพนักงานกะทันหันลงเกือบครึ่ง และ Meta ก็ลดการจ้างงานลงกว่า 30% คำถามก็คือทำไมบริษัทเทคใหญ่หลายแห่งจึงพากันปลดพนักงานลงจำนวนมาก สาเหตุคืออะไร และเราควรปรับตัวอย่างไร?

อธิบายได้ว่าเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลักใหญ่ๆ ก็คือ ลดจำนวนคนเพื่อ Save cost , รายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบเป็น Year-on-Year เพราะสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง และหุ้นที่ร่วงหนักเมื่อเทียบเป็น Year to Date มาลองวิเคราะห์ไปทีละสาเหตุพร้อมกัน

สาเหตุที่บริษัทเทคต้องลดพนักงานลง

     1. สถานการณ์โควิดที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น :

ต้องบอกว่าหลายๆบริษัทได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างเยอะจากสถานการณ์โควิดเมื่อแรกเริ่มระบาด แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้่นแล้ว โควิดเริ่มซาลง สิ่งที่หลายคนคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดขึ้น กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์แบบ 100% หรือการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ตอนนี้เทรนด์กลับไม่เป็นเช่นนั้นแบบสุดทางแล้ว เพราะทุกคนก็เริ่มอยากออกจากบ้านมากขึ้น อยากไปกินข้าวที่ร้านอาหาร ได้เจอหน้าผู้คน ได้ซื้อของที่จับต้องได้จริงๆ

  2. มรสุมทางเศรษฐกิจ :

ไม่ว่าจะเป็นเพราะเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หรือเหตุการณ์ Black Swan อย่างสงครามยูเครน-รัสเซีย เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต่อบริษัทเทคใหญ่ๆหลายแห่งมากทีเดียว ที่จำเป็นต้องปรับตัวและประหยัดต้นทุน

    3. การแข่งขันในบริษัทเทคที่มากขึ้นเพื่อแย่งชิงผู้ใช้งาน :

เช่น Netflix ที่ถือเป็น Disruptor แห่งวงการแพลตฟอร์มสตรีมหนังออนไลน์ช่วงแรกๆ ตอนนี้ก็มีคู่แข่งที่ทำแพลตฟอร์มแบบเดียวกันเกิดขึ้นมากมาย ผู้ใช้งานจึงต้องกระจายไปตามความตอบโจทย์ของแต่ละคน เช่น Disney Plus หรือ Amazon Prime ซึ่งทำให้บริษัทเทคที่เคยเป็น Winner take all  ก็ต้องแบ่งเค้กให้กับคนอื่นบ้าง ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ Facebook ที่ถือว่า Take all มาตลอดสิบปี เมื่อเกิด Tiktok ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี คนก็เริ่มที่จะอพยพไปมากขึ้น 

วิเคราะห์สาเหตุ

ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้สรุปได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้บริษัทเทคหลายแห่งต้องทำการลดจำนวนพนักงานออกเพื่อ Save Cost ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดช่วงแรกๆ ถือเป็นโอกาสที่บริษัทเทคจะขยายตัว จึงต้องเร่งขยายบริษัทให้ไวที่สุด นำมาซึ่งการจ้างงานจำนวนมาก เพราะโอกาสมา คนจึงสำคัญ และประสิทธิภาพอาจไม่สำคัญเท่าการเร่งขยายบริษัทให้เติบโตไวที่สุด

แต่ช่วงเวลาพีคนั้นไม่ยั่งยืนตลอดไป เมื่อโควิดซาลง กระแสจึงตีกลับ จึงเป็นธรรมดาที่ต้องลดจำนวนคนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ลดจำนวนการจ้างงาน ซึ่งเกิดเป็นวงจรคือ เมื่อเริ่มแรกบริษัทเติบโตมาก ก็ดึงดูดคนจำนวนมาก เกิดเป็น  “สงครามแย่งชิงคน” หรือ Talent War แต่เมื่อแย่งชิงคนมาจนมีจำนวนมากแล้ว บริษัทไม่พีคอย่างต่อเนื่องแล้ว จึงต้องปลดพนักงานลงจำนวนมาก Effect หลังจากนั้นจึงเป็น “การลาออกครั้งยิ่งใหญ่” หรือ The Great Resignation

เราจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากแพลตฟอร์ม Zoom ที่ถือว่าบูมมากในช่วงโควิดระบาดรอบแรกๆ เพราะทุกคนต้องเจอกันผ่านหน้าจอเพื่อความปลอดภัย ทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตสูงถึง 300% นักลงทุนต่างพากันคาดการณ์ว่าแนวโน้มของกำไรก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆอย่างแน่นอน

แต่ปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อสถานการณ์เริ่ม Normalized ผู้คนเริ่มทยอยกันเข้าออฟฟิศ การใช้งาน Zoom จึงเริ่มใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ใช้บ่อยทุกวันเหมือนเมื่อก่อน ทำให้รายได้การเติบโตของ Zoom ตอนนี้จึงอยู่ที่ 27% เท่านั้น ซึ่งผิดกับที่นักลงทุนหลายคนคาดการณ์กันไว้

ความรู้สึกของนักลงทุนต่อหุ้นเทคโนโลยีจึงลดลงค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเทคแย่ลงในเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเรื่องของราคาหุ้นที่ขึ้นเกินไปและบริษัทเติบโตช้าลง อาจเปรียบเหมือนกับฟองสบู่ที่ยังไม่ถึงกับแตก แต่ฟีบลงแล้ว เพราะเราได้ผ่านจุดพีคนั้นมาแล้ว

Elon Musk ก็ออกมายอมรับเช่นกันว่าสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ถือว่าแย่มากทั้งโลก และการจ้างคนเยอะเกินไปก็ทำให้บริษัทมีรายจ่ายที่มากเกิน บริษัทจึงต้องพิจารณาโครงสร้างพนักงานเพื่อลดต้นทุน 

แล้วบริษัทเทคควรปรับตัวอย่างไร?

Chris Yeh ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Blitzscaling: The Lightning-Fast Path to Building Massively Valuable Companies บอกว่า บริษัทเทคควรมีทักษะในการปรับตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน (Resilience and Agility) และเข้าใจว่า ถึงจะมีช่วงสะดุดไปบ้าง แต่อย่างไรเทรนด์ดิจิทัลก็ต้องมาอยู่แล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นการวัดว่าใครคือตัวจริง ใครคือผู้อยู่รอด เพราะไม่ว่าอย่างไร เรื่องเทคโนโลยีก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ดี ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่ดีในการ Transform องค์กร และการเข้าใจประสบการณ์ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดนั้นได้เปรียบ สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องเข้าใจก็คือ ไม่มีอะไรเติบโตและยั่งยืนได้ตลอดไป 

 

Article by Thanisorn Boonchote

Nice Selfie

Office Manager

Chanatinad Chotiksatis

Thailand