เทคโนโลยีทำให้โลกของเราเปลี่ยนไวและไปไกลอย่างไม่น่าเชื่อ จากที่เคยเห็นแต่ในเกมส์ ภาพยนตร์ไซไฟหรือนิยายแฟนตาซี สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
ในอดีตคำว่า จ่ายตลาด หมายถึงการไปเดินตลาดจริงๆ แต่ปัจจุบันคำเดียวกันนี้กลับหมายถึงการช้อปปิ้งออนไลน์ และในอนาคตอาจหมายถึงการช้อปปิ้งแบบเสมือนจริงในโลก Metaverse ก็เป็นได้
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเราไป การขายของหรือทำการตลาดก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย จากเดิมที่เคยใช้สื่อสิงพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และ Social Media ต่อจากนี้จะยิ่งล้ำหน้าและไปไกลมากกว่านี้ การตลาดควอนตัมจึงเป็นคำอธิบายของ The Next Level of Marketing ที่คนในแวดวงไอทีและธุรกิจควรรู้หากไม่อยากตกขบวนรถ
ความหมายของ Quantum
Quantum (Adjective.) หมายถึง ภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันใดและคาดเดาไม่ได้ เช่น
-Quantum Physics คือสิ่งที่ฟิสิกส์ดั้งเดิมไม่สามารถอธิบายได้ เป็นทฤษฎีใหม่ที่ลบล้างทฤษฎีเก่า เช่น กลศาสตร์ควอนตัม
-Quantum Computing คือกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ที่ก้าวกระโดดและขัดแย้งกับข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่ เช่น การคำนวณควอนตัม
-Quantum Marketing คือกรอบการทำงานใหม่ของโลกการตลาด ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในเชิง Mindset
โดยคำว่า Quantum Marketing นั้นเริ่มมาจากคุณ Raja Rajamannar ซึ่งก็คือผู้ที่เขียนหนังสือเรื่อง Quantum Marketing นั่นเอง เขาได้ให้คำนิยามไว้ว่า มันก็คือส่วนผสมระหว่าง Marketing 5.0 + Deep Data + IoT + AI + 5G + Blockchain เป็นการตลาดที่พึ่งพาเทคโนโลยีและส่งผลให้ Customer Journey กระจัดกระจายจนยากที่จะวางระบบแบบเดิมได้อีก เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ทุกวันนี้สามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกช่องทาง Quantum Marketing จึงไม่ใช่เรื่องของเทคนิค แต่เป็น Mindset ที่มีต่อมุมมองการทำตลาด ที่ไม่ใช่แค่ Digital Marketing as a Data อีกต่อไป
การเดินทางของการตลาด 4 กระบวนทัศน์
เพราะการตลาดไม่เคยหยุดพัฒนา จากข้อมูลประวัติศาตร์ก็พบว่า มนุษย์รู้จักทำการตลาดมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว โดยเป็นการโฆษณาขายเข็มในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีนเมื่อเกือบพันปีก่อน และจากจุดเริ่มต้นนั้น การตลาดก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเรื่อยมา ตั้งแต่การเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารและโปสเตอร์ วิทยุและโทรทัศน์ ไปจนถึงแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์และ Social Media
กระบวนทัศน์ที่ 1 : การตลาดแบบเน้นตรรกะและเหตุผล
ในช่วงเริ่มแรก การตลาดมีลักษณะสื่อสารแบบตรงไปตรงมา มีเหตุผลและเน้นไปที่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก โดยแนวคิดที่ว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้ออย่างมีเหตุผล หากเราทำสินค้าคุณภาพดีที่สุด ลูกค้าก็ต้องซื้อของเรา ดังนั้นการตลาดยุคนี้จึงมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเรียบง่าย คือการเน้นทำผลิตภัณฑ์ให้ดีกว่าคู่แข่ง ตัวอย่างประโยคขาย เช่น รถยนต์ดอดจ์ “ขับนุ่มกว่า” หรือ เครื่องดูดฝุ่น “ไม่มีอะไรดูดได้ดีเท่าอิเล็กโทรลักซ์”
กระบวนทัศน์ที่ 2 : การตลาดแบบเน้นอารมณ์ล้วนๆ
จากกระบวนทัศน์แรก เมื่อนักการตลาดทำการตลาดเชิงเหตุผลไปเรื่อยๆก็พบว่ามนุษย์เรามักตัดสินใจด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้นการตลาดในยุคต่อมาจึงพยายามสอดแทรกอารมณ์ต่างๆเข้าไปในโฆษณา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิทยุและโทรทัศน์กำลังเติบโตมากด้วยนั่นเอง ส่งผลให้ภาพและเสียงกลายเป็นสื่อใหม่ที่ทรงพลัง เล่าเรื่องราวได้อย่างเข้าถึงอารมณ์มากขึ้น การตลาดยุคนี้จึงไม่จำเป็นต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลสนับสนุน แต่เน้นอารมณ์ที่ทรงพลัง ยกตัวอย่างเช่น NIKE ที่ทำโฆษณาเพียงประโยคเดียวคือ “Just do it” หรือ Coca-Cola “ทุกอย่างจะดีขึ้นถ้ามีโค้ก”
กระบวนทัศน์ที่ 3 : การตลาดเชิงข้อมูลและสื่อดิจิทัล
การตลาดแบบเน้นอารมณ์อยู่ในจุดสูงสุดทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์จนกระทั่งถึงจุดพลิกผันเมื่อมีการเกิดขึ้นของ “อินเทอร์เน็ต” ที่ทำให้นักการตลาดใช้พลังของข้อมูลเพื่อสร้างการตลาดที่กำหนดเป้าหมายได้ชัดกว่าเดิม จากเดิมที่ต้องทำการตลาดคราวละมากๆ เมื่อมีข้อมูล นักการตลาดก็สามารถทำการตลาดที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างแม่นยำและสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น การส่ง Direct email ที่มีการสื่อสารที่ปรับให้เข้ากับแต่ละบุคคล สร้างความน่าจดจำและความประทับใจ จึงทำให้การตลาดยุคนี้เปลี่ยนแปลงการวัดผลของโฆษณาไป โดยไม่ต้องคาดเดากลุ่มเป้าหมายหรือเรตติ้งโฆษณา แต่อาศัยการดูจำนวนข้อมูลของผู้ใช้งานผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้ลดการสูญเสียของทรัพยากร ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างมหาศาล
กระบวนทัศน์ที่ 4 : การตลาดแบบออนไลน์ตลอดเวลา
เมื่อมีการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ทำให้การตลาดไม่สามารถหยุดทำงานได้ การตลาดต้องออนไลน์และพร้อมใช้งานตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้บริโภคก็ไม่สนใจเรื่องกรอบเวลาอีกต่อไป โทรศัพท์กลายเป็นส่วนต่อขยายของร่างกายมนุษย์ ที่ต้องอยู่ข้างกายตลอด 24 ชั่วโมง นั่นกลายเป็นอุปสรรคและความท้าทายใหม่ของนักการตลาดที่ต้องพร้อมขาย Stand by ตลอดเวลา การวัดผลโฆษณาจึงมาจาก ยอดการเข้าชมเพจและความน่าสนใจของคอนเทนต์ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม และก่อให้เกิดความไม่ไว้ใจของระบบนิเวศของการตลาด เช่น เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล นั่นจึงทำให้เกิดกระบวนทัศน์ที่ 5 ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ นั่นก็คือการเกิดขึ้นของ Quantum Marketing นั่นเอง
กระบวนทัศน์ที่ 5 การตลาดแบบควอนตัม
ในยุคนี้ การตลาดถูก Disrupt อย่างรุนแรงจากข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างมากมายจากการพัฒนาสุดขีดของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการตลาด ที่เรียกได้ว่าหากเกิดความผิดพลาด สิ่งนั้นจะยิ่งขยายใหญ่โต ในขณะที่ความสำเร็จจะยิ่งหายไปอย่างรวดเร็วตามระยะเวลาความสนใจของผู้บริโภคที่สั้นลงเรื่อยๆ สิ่งนี้คือความหมายของ “Quantum” หมายถึงผลกระทบที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยแนวคิดแบบเดิมๆ แต่สามารถเข้าใจผ่านลักษณะที่น่าจะเกิดขึ้นได้ คือ
-ข้อมูลเกิดขึ้นมากมายไม่สิ้นสุด
การตลาดแบบควอนตัมจะทำให้เกิดตัวเซนเซอร์ที่จะหยั่งรากลึกลงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ทุกอย่าง ไปจนถึงลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์ดิจิทัล หรือรถที่เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตัวเซนเซอร์นี้จะเก็บข้อมูลผู้บริโภคในทุกระดับอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่หากนักการตลาดรู้ว่าจะนำข้อมูลควอนตัมเหล่านี้มาใช้ ก็จะสามารถผลักดันแผนการตลาด กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
-บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent : AI)
ไม่ว่านักการตลาดต้องการจะทำอะไร ตั้งแต่แบบสำรวจผู้บริโภคแบบง่ายๆไปจนถึงการวิเคราะห์แนวโน้มแบบซับซ้อน ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะมาทำให้มันง่ายเหมือนเกมเด็กเล่น เพราะ AI สามารถอ่านข้อมูลทุกประเภทที่หลั่งไหลเข้ามาได้ไม่มีวันสิ้นสุด และทำความเข้าใจทุกอย่างจนสามารถสร้างข้อมูลเชิงลึกได้ภายในเวลาอันสั้น นั่นทำให้เกิดข้อมูลแบบเรียลไทมส์ขึ้น AI จะทำให้นักการตลาดรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของวงจรการตลาดโดยไม่ต้องใช้เวลามากอีกต่อไป
-การเข้ามาของบล็อกเชน
บล็อกเชน คือสิ่งที่เข้ามาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใสและความน่าไว้ใจให้นักการตลาด เพราะในพื้นที่สื่อดิจิทัลนั้นเต็มไปด้วยตัวกลางจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อ บริษัทโฆษณา และอินฟลูเอ็นเซอร์ จนยากจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นของแท้หรือของปลอม การเข้ามาของบล็อกเชนจะมาช่วยลดปริมาณตัวกลางลงไป การทำสัญญาดิจิทัลก็เกิดขึ้นโดยตรงระหว่างผู้ลงโฆษณาและสื่อ ทำให้ไม่สามารถแอบแก้ไขข้อมูลภายหลังได้
-เครือข่าย 5G ที่ขับเคลื่อนทุกอย่าง
ในการตลาดยุคใหม่ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้นั่นคืออินเทอร์เน็ตที่ช่วยประสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ดิจิทัลที่ต้องเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โฮโลแกรม ไปจนถึง AR VR ทุกอย่างนั้นถูกเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น และเครือข่าย 5G จะยิ่งเอื้อประโยชน์มากขึ้นในเรื่องของประสิทธิภาพและความรวดเร็ว ส่งผลให้นักการตลาดสามารถเชื่อมการทำงานระยะไกลแบบเรียลไทมส์ได้ จับสัญญาณเซนเซอร์จากกิจกรรมของผู้บริโภคได้ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย
สรุป
การตลาดแบบควอนตัมคือกระบวนทัศน์ที่ทำให้นักการตลาดรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกที่ไม่เคยเหยียบย่างมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ ข้อมูลปริมาณมหาศาล และความสนใจระยะสั้นของผู้บริโภค เรื่องเหล่านี้จะเปลี่ยนกรอบคิดของการทำการตลาดยุคใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง แบรนด์ต่างๆจะสร้างความตื่นเต้น และการมีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คาดหวังให้นักการตลาดและแบรนด์สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่สังคมมากขึ้น รูปแบบและกลยุทธ์ในการทำการตลาดจะยิ่งท้าทายมากกว่านี้ เราจะพบกับเขาวงกตของคอนเทนต์ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นี่คือกรอบคิดแบบใหม่ของ Quantum Marketing
Article by Thanisorn Boonchote