จริยธรรมกับ AI: ความโปร่งใสของปัญญาประดิษฐ์

Your Opinion
Published: 19.06.24

ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Generative AI) เข้ามามีบทบาทในชีวิตของพวกเรามากขึ้น

เพราะ AI เหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยจัดการงานต่างๆ ได้ เนื่องจากมีแหล่งข้อมูลมหาศาลและถูกเทรนด้วย Large Language Model; LLM ทำให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากการประมวลข้อมูลได้ในเวลาสั้นๆ ตัวอย่างของ AI ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ChatGPT เอไอแชตบอท หรือ Midjourney ซึ่งสามารถสร้างสรรค์รูปภาพขึ้นมาจากคำสั่ง (Prompt) ที่ผู้ใช้ป้อนเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงคือแหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านั้นว่าได้มาอย่างถูกจริยธรรมหรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิต AI เองไม่สามารถให้คำตอบหรือเปิดเผยแก่ผู้ใช้งานได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากที่ใดบ้าง 

ตัวอย่างที่เกิดขึ้น อาทิ กรณีกลุ่มนักเขียนร้องเรียนบริษัท Nvidia ว่าได้ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือกว่า 196,640 เล่มเพื่อนำไปพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ NeMo ซึ่งทางบริษัทปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวและได้ทำการลบข้อมูลที่ถูกกล่าวหาออกไป หรือกรณีของนักแสดงชื่อดัง สการ์เลตต์ โจแฮนส์สันกับ OpenAI เนื่องจากทางบริษัทเคยติดต่อให้เธอมาพากย์เสียงสำหรับฟีเจอร์ AI แต่เธอปฏิเสธ แต่ต่อมา OpenAI ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่พร้อมกับเสียงพากย์ที่คล้ายกับเสียงของสการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน เธอจึงได้ตั้งทีมกฎหมายเพื่อร้องต่อบริษัท ซึ่ง OpenAI ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของเธอ และปฏิเสธที่จะเปิดเผยแหล่งที่มาของการสร้างเสียงในฟีเจอร์ Sky 

แม้ว่าการใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์ผลงานจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การนำไปใช้จะนำไปสู่ข้อกังขาว่า ข้อมูลที่ได้มาจากฐานข้อมูลซึ่งเป็นผลงานที่ผู้อื่นสรรค์สร้างไว้เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ เพราะเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่แท้จริง นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้วยังถูกนำผลงานไปปรับใช้ตามใจชอบโดยไม่สามารถควบคุมได้ ความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์และจริยธรรมอาจเป็นสิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ แต่ในฐานะมนุษย์ผู้ใช้งาน การคำนึงถึงจุดนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ 

จะเห็นได้ว่าปัญหาและข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทำงานของ AI แต่มาจากขอบเขตและจริยธรรมของผู้ผลิตและผู้ใช้งาน ทาง Cathcart Technology จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านขบคิดจากข้อเสนอแนะแนวทางบางประการที่ผู้ผลิตและผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติเพื่อใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม ดังนี้ 

–  ใช้งานบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่ละเมิดกฎหมาย 

–  ใช้แหล่งข้อมูลที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของผลงานแล้ว เช่น Shutterstock 

–  ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการก็ควรเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูล และวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อมูล วิธีการทำงาน รวมถึงกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้งาน อันจะนำไปสู่การใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม 

การใช้เครื่องมือที่ชาญฉลาดอย่างมีจริยธรรมจะช่วยให้เรามีตัวช่วยอำนวยความสะดวก สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับตระหนักถึงการควบคุมดูแลการใช้งานอย่างมีขอบเขต จะทำให้การใช้งาน AI เกิดประโยชน์สูงสุด 

ขอบคุณข่าวอ้างอิงจาก

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=b1FSbENlZVM2eEU9
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_8247944

Article by Wannakorn Thongkaow

 

#CathcartTechnology #AI #Artificialintelligence #LargeLanguageModel #Technology #Ethics #จริยธรรม #ChatGPT #Midjourney #Shutterstock #IT

Managing Consultant

Piyatida Anthong

Thailand